วันฮารีรายอ
“วันฮารีรายอ” เทศกาลแห่งความสุขที่มุสลิมทั่วโลกรอคอยมาถึงอีกครั้งแล้ว คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นวันปีใหม่ตามปฏิทินอิสลาม แต่ผิดถนัด!! แท้จริงมันคือวันสำคัญทางศาสนา เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติศาสนกิจ และแสดงความเอื้ออาทรต่อกัน | |||
“ฮารีรายอ” ไม่ใช่วันปีใหม่... อย่าเข้าใจผิด “ฮารีรายอ” เป็นคำที่คนทั่วไปคุ้นหูเมื่อกล่าวถึงเทศกาลเฉลิมฉลองครั้งสำคัญของชาวมุสลิมทั่วโลก เดิมคำนี้มีรากศัพท์มาจากคำว่า Hari Raya ในภาษามลายู โดยมุสลิมแถบ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส จะออกเสียงเป็นภาษามลายูถิ่นว่า “ฮารีรายอ” แต่มุสลิมในพื้นที่อื่นๆ ของภาคใต้ ตั้งแต่ จ.สงขลา จ.สตูล จ.ตรัง จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ ไล่ไปจนถึง จ.สุราษฎร์ธานี จะเรียกเทศกาลนี้ว่า “ฮารีรายา” ส่วนมุสลิมในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยนั้น มักจะเรียกทับศัพท์ด้วยภาษาอาหรับว่า “วันอีด (Eid)” ซึ่งแปลว่า เทศกาลงานรื่นเริง โดยในแต่ละปีจะมี “วันอีด” หรือเทศกาลเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งชาวมุสลิมทั่วโลกรอคอย 2 วัน คือ วันอีดิ้ลฟิตริ และวันอีดิ้ลอัฎฮา | |||
“อีดิ้ลฟิตริ” งานเฉลิมฉลองหลังการถือศีลอด แต่ละปีมุสลิมทั่วโลกจะถือศีลอดพร้อมกันในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม ทุกๆ ปีจะมีการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันเริ่มต้นถือศีลอดในแต่ละพื้นที่โดยพร้อมเพรียงกัน เนื่องจากปฏิทินอิสลามนั้นเป็นแบบจันทรคติ การเห็นหรือไม่เห็นดวงจันทร์ในวันที่ถูกกำหนดขึ้นให้เป็น “วันดูดวงจันทร์” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับประเทศไทย จะมีสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นผู้กำหนดวันดูดวงจันทร์ และจะออกประกาศให้พี่น้องมุสลิมทราบโดยทั่วกันว่า ผลการดูดวงจันทร์เป็นอย่างไร นอกจากนี้ ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้นำศาสนา และประชาชนในแต่ละท้องที่คอยเฝ้าดูดวงจันทร์ แต่อย่างไรก็ตาม จะยึดถือคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นหลัก “วันอีดิ้ลฟิตริ” เป็นเทศกาลรื่นเริงหลังจากถือศีลอด ซึ่งเรียกกันเล่นๆ ว่า “เดือนบวช” จึงนิยมเรียกงานรื่นเริงดังกล่าวว่า “วันรายาออกบวช” “วันรายอออกบวช” “วันออกบวช” หรือ “วันอีดเล็ก” ตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวาล ตามปฏิทินอิสลาม กิจกรรมที่สำคัญเกี่ยวกับวันอีดิ้ลฟิตริ คือ การจ่ายซะกาต หรือการบริจาคทานเมื่อมีทรัพย์สินครบถึงจำนวนที่กำหนด ทั้งนี้ สามารถเทียบเคียงได้กับการจ่ายภาษีให้แก่สังคมนั่นเอง ถือเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว และเติมเต็มช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกันด้วย | |||
“อีดิ้ลอัฎฮา” เทศกาลเชือดสัตว์ชำระล้างจิตใจ ถัดจาก “วันอีดิ้ลฟิตริ” ไปอีก 2 เดือน 10 วัน โดยอ้างอิงจากปฏิทินจันทรคติแบบเดิม จะมีงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่อีกครั้ง เรียกว่า “วันอีดิ้ลอัฎฮา” ซึ่งตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮฺ ซึ่งเป็นเดือนที่ 12 ของปฏิทินอิสลาม โดยในวันดังกล่าวนี้จะตรงกับช่วงเวลาที่มุสลิมทั่วโลกเดินทางไปทำฮัจญ์ หรือแสวงบุญ ณ นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ชาวไทยมุสลิมจึงนิยมเรียกกันว่า “วันรายาฮัจญี” “วันรายอฮัจญี” “วันอีดใหญ่” หรือ “ฮารีรายากุรบาน” ทั้งนี้ เนื่องจากสิ่งสำคัญที่มุสลิมต้องทำเนื่องใน “วันอีดิ้ลอัฎฮา” คือ การเชือดสัตว์เพื่อเป็นพลีทาน หรือทำ “กุรบาน” สำหรับผู้ที่มีกำลังความสามารถ หรือมีทุนทรัพย์มากพอ “กุรบาน” คือ การเชือดสัตว์ซึ่งได้แก่ แพะ แกะ วัว หรืออูฐ แจกจ่ายแก่ครอบครัว เครือญาติ ผู้ขัดสน หรือสังคม โดยสัตว์ที่นำมาเชือดจะต้องมีลักษณะสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่พิการ หรือมีตำหนิที่น่ารังเกียจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ของนบีอิรอฮีม ซึ่งเป็นศาสดาที่สำคัญอีกท่านหนึ่งของศาสนาอิสลาม ผู้ซึ่งเคยถูกพระองค์อัลลอฮฺทดสอบจิตใจ และความศรัทธาของพระองค์โดยการใช้ให้เชือดบุตรชายอันเป็นที่รัก ประวัติศาสตร์อิสลามเล่าว่า นบีอิบรอฮีมนั้นอายุมากแล้ว ประกอบกับแต่งงานมาหลายปีแล้วก็ยังไม่มีบุตร ท่านจึงได้วิงวอนขอต่อพระองค์อัลลอฮฺให้ประทานบุตรชายที่ดีให้แก่ท่านคนหนึ่ง ต่อมา เมื่อท่านแต่งงานกับนางฮาญัร นางได้คลอดบุตรชายคนหนึ่งตั้งชื่อว่า อิสมาอีล (ซึ่งต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นศาสดาของศาสนาอิสลามเช่นเดียวกัน) นบีอิบรอฮีมรัก และเอ็นดูบุตรชายคนนี้ของท่านอย่างหาที่เปรียบมิได้ ต่อมา พระองค์อัลลอฮฺก็ได้มีบัญชาใช้ให้นบีอิบรอฮีมเชือดบุตรชายสุดที่รักของท่านเพื่อความพึงพอพระทัยของพระองค์ พระบัญชาดังกล่าวถือเป็นบททดสอบครั้งยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อนบีอิบรอฮีม หลังจากท่านได้ผ่านบททดสอบหนักหนาสาหัสมามากมาย แต่ไม่มีครั้งใดที่ยากยิ่งไปกว่าครั้งนี้ นบีอิบรอฮีมจึงเรียกบุตรชายของพระองค์มาหา และเล่าคำบัญชาใช้ของพระเจ้าให้ฟัง อิสมาอีล บุตรชายของท่านตอบว่า “คุณพ่อครับ อะไรก็ตามที่พ่อถูกบัญชาให้ทำ พ่อจงทำหากเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺ แล้วพ่อจะเห็นว่าฉันคือผู้อดทน” ได้ยินดังนั้น นบีอิบรอฮีมจึงพาบุตรชายออกเดินทางไกล โดยมีเจตนาแน่วแน่ว่าจะเชือดพลีบุตรชายตามพระบัญชา โดยที่อิสลาอีล บุตรชายสุดที่รักของท่านก็เห็นด้วย และยินดีที่จะพลีตนเองสนองต่อพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ระหว่างทางที่นบีอิบรอฮีมนำบุตรชายเดินทางไปเพื่อเชือดพลีก็มีมารร้ายพยายามยุแหย่ให้ไขว้เขว ไม่ให้ปฏิบัติตามคำบัญชา ท่านจึงใช้ก้อนหินขว้างมัน สักครู่หนึ่งมันก็กลับมายุแหย่รังควานท่านอีก ท่านจึงใช้ก้อนหินขว้างมันอีก มารร้ายจึงได้หลบหนีไป และเหตุการณ์ใช้หินขว้างมารร้ายนี้ก็เป็นที่มาของการขว้างเสาหินในขั้นตอนของการประกอบพิธีฮัจญ์ ปรากฏว่า เมื่อมาถึงสถานที่เชือด หลังจากนบีอิบรอฮีมได้ให้บุตรชายนอนลง และวางคมมีดลงบนคอของลูกน้อยหมายจะเชือด ก็ได้มีบัญชาจากพระองค์อัลลอฮฺว่า พระองค์ได้เห็นเจตนาที่แท้จริงที่นบีอิบรอฮีมต้องการจะเชือดพลีบุตรชายแล้ว ดังนั้น พระองค์จะตอบแทนความดีงามให้ และแท้จริงนี่เป็นเพียงบททดสอบ จึงสั่งให้ท่านปล่อยตัวบุตรชายเป็นอิสระ ทั้งนี้ พระองค์ทรงได้ให้ค่าตัวเขาด้วยการเชือดพลีอันยิ่งใหญ่ จากนั้นก็ได้ให้นบีอิบรอฮีมเชือดแกะแทนการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ของท่าน การเชือดสัตว์ หรือทำ “กุรบาน” เพื่อแจกจ่ายเนื่องในวันอีดิ้ลอัฎฮานี้ นอกจากจะเป็นการระลึกถึงการเสียสละ และความศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮฺอย่างล้นพ้นของนบีอิบรอฮีมแล้ว ยังถือเป็นการแสวงหาความโปรดปรานจากพระองค์อัลลอฮฺ และขัดเกลาจิตใจมุสลิมให้รู้จักเสียสละ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อีกด้วย | |||
มุสลิมทำอะไรบ้างใน “วันอีด” พิธีการทางศาสนาที่สำคัญเนื่องในวันอีดทั้ง 2 วัน คือ การละหมาดวันอีด ซึ่งเป็นการละหมาดที่ไม่บังคับ หมายถึงถ้าปฏิบัติก็จะได้รับผลบุญ ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่มีความผิดบาป เป็นการละหมาดในช่วงเช้าของวันอีด เพื่อขอพรให้พระองค์อัลลอฮฺประทานความจำเริญแก่ชีวิต พร้อมทั้งขออภัยโทษในความผิดบาปต่างๆ นานาด้วย ทั้งนี้ มุสลิมส่วนใหญ่มักจะนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเองเพื่อเฉลิมฉลองวันอีดร่วมกับครอบครัว และญาติพี่น้อง รวมทั้งเพื่อขอขมาลาโทษซึ่งกันและกัน และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ หรือที่สะอาดสวยงาม “วันอีด” จึงถือเป็นวันรวมญาติครั้งยิ่งใหญ่ของพี่น้องมุสลิม โดยหลังจากละหมาดอีดในช่วงเช้าแล้ว จะมีการเลี้ยงอาหารเพื่อสังสรรค์กันในครอบครัว หรือเลี้ยงอาหารแก่บุคคลทั่วไป รวมทั้งมอบของขวัญ ของกำนัลแก่กันด้วย ทั้งในรูปของขนม สิ่งของต่างๆ และเงิน เช่นเดียวกับอั่งเปาของชาวจีน นอกจากนี้ ก็ยังนิยมเดินทางไปพักผ่อนหย่อนใจตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หรือไปเยี่ยมญาติตามต่างจังหวัด เพื่อแสดงความรักความห่วงใยที่มีต่อกัน และกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น | |||
อวยพรกันและกันเนื่องในเทศกาลแห่งความสุข สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในเทศกาลแห่งความสุขก็คือ คำอวยพร สำหรับวันอีดทั้ง 2 วันของชาวมุสลิมนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยนิยมอวยพรกันและกัน ดังนี้ “ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วามินกุม” เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า ขออัลลอฮฺทรงตอบรับการงานที่ดีจากเราและจากท่าน พร้อมทั้งมีการขออภัยในความผิดที่ได้กระทำต่อกันแล้วๆ มาด้วยคำว่า “ขอมาอัฟ” ซึ่งเป็นภาษามลายูแปลว่า ขอโทษ ส่วนคำว่า “อีดมูบาร็อก” นั้นมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า สุขสันต์วันอีด เช่นเดียวกับคำว่า “สลามัต ฮารีรายา / สลามัต ฮารีรายอ” ในภาษามลายู วันอีด... “วันหยุดราชการ” ในจังหวัดชายแดนใต้ บางประเทศได้ประกาศให้ “วันอีด” เป็นวันหยุดราชการพร้อมกันทั้งประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งมีผู้นับถือศาสนาอิสลามกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ได้ประกาศให้ “วันอีด” เป็นวันหยุดราชการเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ จ.สตูล จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส เท่านั้น แหล่งอ้างอิง http://www.manager.co.th/south/viewnews.aspx?NewsID=9550000130873 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น